1. /
    บทความ
  2. /
    ความเชื่อผิดๆ ที่เคยได้ยินมา สำหรับคนใช้รถ Ep1 | เว็บบล็อก Truck2Hand - Truck2Hand.com

ความเชื่อผิดๆ ที่เคยได้ยินมา สำหรับคนใช้รถ Ep1 | เว็บบล็อก Truck2Hand - Truck2Hand.com

ผู้เขียน: Mukยานยนต์ เทคนิคการใช้รถ8/4/2564
check email
แชร์
LINE
Facebook
Twitter
Pinterest
ความเชื่อผิดๆ ที่เคยได้ยินมา สำหรับคนใช้รถ Ep1 | เว็บบล็อก Truck2Hand - Truck2Hand.com

คนขับรถจำนวนไม่น้อย ขับรถเป็นอย่างเดียว ใช่ว่าจะรู้วิธีการดูแลรักษารถที่ดี และมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องยนต์มากพอ ดังนั้น คนขับรถส่วนมาก ก็ฟังคำแนะนำจากปากต่อปาก มาเรื่อยๆ และบ่อยครั้งที่เราไม่ได้ตรวจสอบว่ามันจริงแค่ไหน Truck2Hand ได้รวบรวมจากผู้รู้หลายแหล่งข้อมูล ที่นำมาให้ศึกษากันครั้งนี้ คัดเอาเรื่องที่จำเป็นจากเว็บไซต์ต่างๆ จากความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการขับรถที่ได้ยินบ่อยๆ และคำแนะนำเกี่ยวกับการขับรถได้ทราบและ ปฎิบัติให้ถูกต้อง มาฝากกันครับ (ตอนที่1)

1. สตาร์ทแล้วออกรถได้เลยไม่ต้องอุ่นเครื่อง ผิด หรือ ถูก?

เมื่อเครื่องยนต์ทำงานขณะที่ยัง “เย็น” อยู่ เช่น ขณะออกจากบ้านไปทำงานในตอนเช้า หรือ เดินทางกลับบ้านเมื่องานเลิก ไอของเชื้อเพลิงที่เข้มข้นจะเกาะผนังกระบอกสูบ และละลายปนกับฟิล์มน้ำมันเครื่อง ที่ฉาบผนังอยู่ ทำให้การหล่อลื่น แหวน ลูกสูบ กับผนังกระบอกสูบไม่เพียงพอ สร้างความสึกหรอ ในเครื่องยนต์มากกว่าปกติ นอกจากนี้ เชื้อเพลิงที่ระเหยไม่หมด และ ไอน้ำที่เกิดจากการเผาไหม้ขณะเครื่องยังเย็นนี้ ยังละลายปนอยู่ในน้ำมันเครื่อง ทำให้น้ำมันเครื่องเสื่อมสภาพเร็วขึ้นอีกด้วย

ไม่ผิด : แต่ที่ถูกต้องและดี…ควรอุ่นเครื่องยนต์สักหน่อยก่อนออกรถจะดีกว่า

2. ขับเร็วตามที่กฎหมายกำหนดแล้ววิ่งแช่ขวาได้ ผิด หรือ ถูก?

หลายคนมักชอบขับรถแช่ขวาเนื่องจากเข้าใจว่าตัวเองขับรถด้วยความเร็วสูงสุดตามกฎหมายกำหนดแล้ว ไม่จำเป็นต้องหลบซ้ายเพื่อให้รถที่เร็วกว่าแซงไป ซึ่งตามหลักกฎหมายนั้น ช่องทางด้านขวาบนถนนที่มีตั้งแต่ 2 เลนขึ้นไป มีไว้สำหรับแซงเท่านั้น แม้ว่าจะใช้ความเร็วสูงสุดตามกฎหมายกำหนดแล้วก็ตาม ก็จำเป็นต้องหลบให้รถที่เร็วกว่าแซงไป

ผิด : ที่ถูกต้อง…ช่องทางด้านขวาบนถนนที่มีตั้งแต่ 2 เลนขึ้นไป มีไว้สำหรับแซงเท่านั้น

3. แฟชั่นเปิดไฟตัดหมอก ผิด หรือ ถูก?

แฟชั่นใหม่สำหรับใครหลายคนที่ชอบเปิดไฟตัดหมอกวิ่งตลอดเวลา ไม่ว่าด้านหน้าหรือด้านหลังรถ ถือว่าผิดกฎหมายนะครับ!..เพราะเป็นการรบกวนสายตารถที่วิ่งสวนทางมาและอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ไฟตัดหมอกควรเปิดเฉพาะเวลาที่ทัศนะวิสัยไม่ดี เช่น มีหมอกหรือควันหนา ฝนตกหนักๆ หรือขับขี่ในทางมืดๆ ที่ไม่มีรถสวนทางมา เป็นต้น ซึ่งตามกฏหมายกำหนดไว้ หากจะติดไฟสปอร์ตไลท์โคมไฟจะต้องไม่กระจายวงกว้าง หากมีการติดแบบกระจายวงกว้าง แม้จะมีฝาครอบก็ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนไฟตัดหมอกมีลักษณะเป็นไฟแสงพุ่งต่ำ ซึ่ง พ.ร.บ. ปี พ.ศ. 2536 ต้องเป็นแสงสีเหลืองหรือสีขาว กำลังไฟไม่เกิน 55 วัตต์ สำหรับการเปิดไฟตัดหมอกนั้นกระทำได้เมื่อมีอุปสรรคในการขับขี่ เช่น มีหมอกควันหรือฝนตกหนัก มองเห็นสิ่งกีดขวางหรือรถที่สวนทางมาในระยะไม่เกิน 150 เมตรถ้าติดไม่ถูกต้อง หรือเปิดไฟพร่ำเพรื่อก็มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท เช่นกัน ดังนั้นผู้ใช้รถจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัย

ผิด : ที่ถูกต้อง…เปิดได้เมื่อมีอุปสรรคในการขับขี่เท่านั้น ไม่เปิดไฟพร่ำเพรื่อ

4. ข้ามสี่แยกต้องเปิดไฟฉุกเฉิน คันอื่นจะได้รู้ ผิด หรือ ถูก?

การขับรถข้ามสี่แยกโดยเปิดไฟฉุกเฉินยังคงพบเห็นได้บ่อย แม้ว่าผู้ขับขี่จะมีเจตนาดีที่ต้องการแจ้งให้รถคันอื่นทราบว่าต้องการตรงไป แต่การกระทำดังกล่าวจะทำให้รถที่แล่นมาทางด้านขวาหรือด้านซ้าย เข้าใจผิดคิดว่าเราเตรียมจะเลี้ยว ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ การขับรถข้ามสี่แยกที่ถูกต้องนั้น เพียงแค่ลดความเร็ว และ เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ให้รถทางหลักวิ่งผ่านไปก่อน ค่อยเคลื่อนรถออกไปโดยไม่จำเป็นต้องเปิดสัญญาณใดๆ ทั้งสิ้น แค่นี้ก็ปลอดภัยแล้วครับ

ผิด : ที่ถูกต้อง…แค่ลดความเร็ว เพิ่มความระมัดระวัง ก็ปลอดภัยแล้ว

5. รถใหญ่ผิดเสมอ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผิด หรือ ถูก?

หลายคนยังคงมีความคิดว่าหากรถมอเตอร์ไซค์ชนกับรถเก๋ง หรือ รถบรรทุกชนกับรถเก๋ง รถใหญ่กว่าจะกลายเป็นฝ่ายผิดเสมอ ซึ่งแท้จริงแล้วไม่มีกฎหมายใดๆ บัญญัติไว้ เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา การตัดสินว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดนั้น จะต้องอยู่บนพื้นฐานว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาท ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการพิสูจน์ทราบ ให้ได้ว่าแท้จริงแล้วฝ่ายใดเป็น ฝ่ายประมาท โดยการติดตั้งกล้องหน้ารถ หรือเรียกดูภาพจากกล้องวงจรปิด เป็นต้น ไม่ได้เกี่ยวกับขนาดรถแต่อย่างใด รู้อย่างนี้แล้ว ท่านใดยังไม่ได้ติดกล้องหน้ารถ ควรหามาติดได้แล้ว

ผิด : ที่ถูกต้อง…การพิสูจน์ทราบ ให้ได้ว่าแท้จริงแล้วฝ่ายใดเป็น ฝ่ายประมาท

6. เปิดไฟ “ฉุกเฉิน” ขณะฝนตกหนัก หรือ หมอกลงจัด ผิด หรือ ถูก?

ไฟฉุกเฉิน นั้นเป็นสิ่งที่มักมีคนใช้งานกันผิดๆ มาตลอด เช่น เปิดเมื่อผ่านทางแยก, ฝนตกหนัก หรือจอดซื้อของริมถนน นับเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะวัตถุประสงค์ของไฟฉุกเฉินนั้น ให้เปิดในกรณีมีเหตุอันควร หรือการจอดฉุกเฉินเนื่องจากรถเสีย เป็นต้น ส่วนในกรณีฝนตกหนัก หากเปิดไฟฉุกเฉินไว้ แล้วเราต้องการจะเปลี่ยนช่องทางหรือเลี้ยว ก็อาจทำให้รถที่ขับตามหลังหรือใกล้เคียงไม่เข้าใจ และ ก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน ถ้าจำเป็นจริงๆ เพียงแค่ให้สัญญาณไฟเลี้ยวซ้าย แล้วพยายามชิดซ้าย ลดความเร็ว เปิดไฟหน้าไว้ หรือ หากมองไม่เห็นทางจริงๆ ก็ให้หาที่ปลอดภัยจอด รอให้ฝนหยุดก่อนจะปลอดภัยกว่า 

ผิด : ที่ถูกต้อง…ให้เปิดในกรณีมีเหตุอันควร หรือ รถเสีย

7. เลี้ยวซ้ายผ่านตลอดทุกสี่แยก ผิด หรือ ถูก?

หลายคนเข้าใจผิดว่าการเลี้ยวซ้ายบริเวณสี่แยกสามารถทำได้ทุกแยก แต่ตามกฎหมายแล้วสามารถเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดได้ก็ต่อเมื่อมีป้ายระบุไว้เท่านั้น หากมีป้ายให้หยุดรอสัญญาณไฟ หรือ มีสัญญาณไฟจราจรให้เลี้ยวซ้ายโดยเฉพาะ หรือแม้กระทั่งไม่มีป้ายใดๆ ติดตั้งไว้อยู่เลย ก็จำเป็นต้องรอสัญญาณไฟเขียวของทางตรง แล้วเลี้ยวไปพร้อมกับทางตรง ด้วยเช่นกัน

ผิด : ที่ถูกต้อง…เลี้ยวซ้ายผ่านตลอดได้ก็ต่อเมื่อมีป้ายระบุไว้เท่านั้น

8.เข้าตำแหน่งเกียร์  P (เกียร์อัตโนมัติ) เมื่อจอดติดไฟแดง ผิด หรือ ถูก?

การเข้าตำแหน่งเกียร์ P  มีเพียงจังหวะเดียวที่ถูกใช้งานคือ เมื่อคุณจอดรถนิ่งๆและไม่มีความจำเป็นต้องใช้งานอีกเป็นเวลานาน เช่น ลานจอด หรือ ในบ้าน การเข้าเกียร์  P ที่ไฟแดง บางท่านอาจจะได้ยินมาจากคนอื่น แต่ความจริงแล้วการเข้าเกียร์ P  จะส่งผล ให้เกิดความเสียหายต่อระบบเกียร์ เมื่อรถคุณเกิดโดนชนท้ายตอนจอดรถติดไฟแดง มีความเสี่ยงสูงที่เกียร์จะได้รับความเสียหายตอนโดนชน จนใช้การไม่ได้ เนื่องจากชุดระบบเกียร์ที่ถูกล๊อกไว้ที่ตำแหน่ง P  จะถูกกระชากรุนแรงจากการชน ถ้ารถอยู่ตำแหน่งเกียร์ว่าง (N) แล้วดึงเบรกมือ  ซึ่งหากโดนชนท้ายระบบเกียร์ที่ไม่ถูกล็อค จะได้รับความเสียหายน้อยกว่า หรือไม่เสียหายเลยก็ได้

ไม่ผิด : แต่ที่ถูกต้องและดีกว่า…เข้าตำแหน่งเกียร์ว่าง (N) แล้วดึงเบรกมือ จะได้ผลกระทบน้อยที่สุด

9.รถติดไฟแดงค้างเกียร์ D ไว้ ดีกว่าเปลี่ยนเกียร์ว่าง ผิด หรือ ถูก?

ในกรณีรถติดไฟแดง ผู้ขับรถที่ใช้เกียร์ธรรมดาก็จะเข้าเกียร์ว่าง และ เหยียบเบรกหรือดึงเบรกมือไว้ป้องกันรถไหล คงจะไม่มีใครเหยียบคลัทช์ และ เบรก ใส่เกียร์คาไว้ ให้เมื้อยขา ขณะที่ผู้ขับรถเกียร์อัตโนมัติ กลับมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันไป กลุ่มแรก เหยียบเบรก โดยค้างเกียร์ไว้ที่ตำแหน่ง “D” กลุ่มที่ 2 เหยียบเบรกเหมือนกัน แต่เลื่อนตำแหน่งเกียร์มาที่เกียร์ว่าง “N” กลุ่มที่3 ดันคันเกียร์มาอยู่ที่ “P” ไม่เหยียบเบรก กรณีติดไฟแดงนานๆ กลุ่มสุดท้าย เข้าเกียร์ว่าง (N) แล้วดึงเบรกมือ มาดูกลุ่มแรก ต้องระวังมากที่สุด เพราะถ้าขยับตัวแล้วเท้าหลุดจากแป้นเบรก รถอาจพุ่งไปชนคันหน้าได้ กลุ่มที่ 2 เบาหน่อยแค่เมื่อยขา กลุ่มที่ 3 สบายแต่ถ้าถูกชนด้านหลังจะส่งผลให้เกียร์พังได้ ส่วนกลุ่มสุดท้าย สบายใจได้ เป็นวิธีดีที่สุด คือ เข้าเกียร์ว่าง แล้วดึงเบรกมือ

ไม่ผิด : แต่ที่ถูกต้องและดีกว่า…เข้าเกียร์ว่าง (N) แล้วดึงเบรกมือ สบายใจที่สุด

10.อย่าดับเครื่องทันที หลังจากขับรถนานๆ ผิด หรือ ถูก?

ทุกท่านคงเคยได้ยินบ่อยๆ เมื่อเราขับรถไปไหนไกลๆ ยิ่งช่วงเทศกาล รถติดหนัก เครื่องมันร้อน เมื่อมาจอดรถตามปั้มน้ำมัน ก่อนดับเครื่องยนต์ ต้องรอสักพักก่อนดับเครื่องยนต์ ไม่งั้นเครื่องยนต์จะเสียหายได้ แต่จริงๆ แล้วคุณสามารถดับเครื่องยนต์ได้เลย ไม่ว่าคุณจะขับนาน ขับเร็ว หรือไกลแค่ไหน เพราะรถออกแบบมาให้มีระบบระบายความร้อนอยู่แล้ว ยกเว้นรถ ที่มีเครื่องยนต์ติดเทอร์โบมา ไม่ว่าติดจากโรงงานหรือติดเองภายหลัง ซึ่งจะต้องติดเครื่องเดินเบาไว้ก่อนสักพัก (เพื่อให้เทอร์โบเย็นลง) ค่อยดับเครื่องได้ เพื่อยึดอายุการใช้งาน

ไม่ผิด : แต่ไม่จำเป็น…สามารถดับเครื่องได้เลย เพราะรถออกแบบมาให้มีระบบระบายความร้อนอยู่แล้ว ยกเว้นเครื่องยนต์ที่ติดเทอร์โบมา

แชร์

LINE
Facebook
Twitter
Pinterest

หมวดหมู่

ยานยนต์ เทคนิคการใช้รถ